วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
เวลาซื้อเครื่องเงิน จะทดสอบอย่างไรว่าเป็นเงินแท้
ทำไมเราถึงจะรู้ว่า เครื่องเงินนั้นเป็นเงินแท้หรือเปล่า
เป็นเรื่องยากที่ผู้ซื้อจะสามารถล่วงรู้ใด้ว่าเครื่องเงินที่ตนซื้อนั้นเป็นเงินจริงหรือเงินปลอม เพราะการพิสูจน์เครื่องเงินไม่สามารถ’ดู’ ได้ด้วยตาเปล่า
คุณ อนันต์ แสงวัณณ์ เลขาธิการสมาคมเครื่องถมและเครื่องเงินไทย บอกว่า ปัจจุบันการปลอมแปลงเนื้อเงินทำได้แนบเนียนขึ้น ต้องพิสูจน์ด้วยน้ำยาหรือเครื่องมือที่ทำขึ้นโดยเฉพาะจึงจะรู้ คุณอนันต์แนะว่า เครื่องเงินปลอม หรือเงินที่ไม่บริสุทธิ์ ปลอมปนโลหะชนิดอื่นในปริมาณมาก จะมีน้ำหนักเบากว่าเงินแท้ ถ้าชื้อเครื่องประดับเงินหนักเพียงบาทสองบาทคงพอเทียบน้ำหนักกับเครื่อง ประดับทองที่เรามีติดตัวได้บ้าง เพราะทองและเงินในน้ำหนัก ๑ บาทจะมีค่า ๑๕ กรัมเท่ากัน
แต่ถ้าชื้อเครื่องเงินน้ำหนักมาก เช่นเข็มขัดเส้นโต คงยากที่จะพิสูจน์ เรื่องเครื่องเงินปลอมปนนั้น ไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่ถูกหลอก ชาวต่างประเทศก็ถูก ‘ต้ม’ มานักต่อนัก คุณอนันต์บอกว่าชาวต่างประเทศไม่รู้จะไปเอาเรื่องกับใครถึงกับทำฎีกาถวาย ในหลวงก็มี
ได้อ่านหนังสือ ‘เครื่องเงินในประเทศไทย’ ของคุณแน่งน้อย ปัญจพรรค์ เห็นว่ามีข้อมูลน่าสนใจจึงขอคัดมาแถมท้ายดังนี้
โลหะ เงินที่เรารู้จักกันนั้น มีที่มาทั้งจากที่เป็นสินแร่เงินโดยตรง เช่น เป็นเกล็ดเล็ก ๆ หรือเป็นเลนปนในดินหินทราย เป็นก้อนเงินบริสุทธิ์ และทั้งที่เป็นสารประกอบปนอยู่ในแร่อื่น ๆ ในอดีตเราอาจทำโลหะเงินจากแร่เงินโดยตรง แต่ปัจจุบันแร่ที่ให้โลหะเงินโดยตรงเกือบไม่มีแล้ว ต้องใช้วิธีแยกโลหะออกจากการถลุงโลหะอื่น เช่น ตะกั่ว สังกะสี และทองแดง เป็นต้น
ไม่น่าเชื่อว่าเงินนั้นอาจตีแผ่เป็นแผ่นได้บางถึง ๐.๐๐๐๐๑ นิ้ว เงินหนัก ๐.๐๖ กรัมสามารถดึงให้ยาวได้ถึง ๔๐๐ ฟุต
นอกจากนั้นเงินยังเป็นตัวนำไฟฟ้าได้ดีที่สุด ต่อต้านการกัดผุได้แทบทุกชนิด ทนทานต่อการกัดของกรดน้ำส้มได้เป็นพิเศษ แต่ควันหรืออากาศที่มธาตุกำมะถันผสมจะจับผิวให้คล้ำคำจนมองไม่เห็นเนื้อ เงิน
เงินมีประโยชน์มากมายหลายอย่าง ในทางอุตสาหกรรมเงินผสมโลหะอื่นใช้ในการเชื่อมต่อ ใช้ทำส่วนประกอบเครื่องกลต่าง ๆ และยังใช้เป็นสารประกอบในการทำฟิล์มอีกด้วย ในวงการแพทย์เงินเป็นตัวกันไม่ให้แผลเน่า ใช้ป้องกันสมองแทนชิ้นส่วนของกะโหลกศีรษะที่ถูกตัดทิ้ง ใช้ตามกระดูก ใช้ผสมปรอทและอื่น ๆสำหรับอุดฟันได้ดีมาก
เงินหรือโลหะเงินที่เรา รู้จักกันนั้นเป็นทั้งเงินบริสุทธิ์ ๑๐๐% และเงินผสมเพื่อความแข็งแกร่งในการทำรูปพรรณ เงินที่น่าจะกล่าวถึงในที่นี้มี ๒ อย่างคือ เงินสเตอร์ลิง (Sterling) หมายถึง เงินที่มีทองแดงผสมไม่เกิน ๗.๕% เป็นมาตรฐานสากลของเครื่องเงินที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับได้ทั่วไป และเงินอีกชนิดซึ่งความจริงไม่ใช่เงิน คือ เงินเยอรมัน เป็นเงินเทียมที่ประกอบด้วยทองแดงและนิกเกิล ไม่มีเนื้อเงินเลย
วิธีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเงินนั้น สมัยก่อนใช้ขูดหรือบากเนื้อเงินลงไปดื้อ ๆ ดังจะเห็นได้จากรอยบากที่เงินพดด้วง แต่สมัยนี้ใช้น้ำกรดดินประสิว ถ้าเป็นเงิน ๑๐๐% ก็จะขาวนวลไม่เปลี่ยนแปลงถ้าเป็นเงิน ๙๒.๕% จะมีสีเขียวนิด ๆ ถ้าปลอมปนมากก็จะเขียวมากตามสัดส่วน
เงินแท้ บริสุทธิ์นั้น เมื่อถูกควันบางชนิดจะดำดังได้กล่าวแล้ว เงินไม่บริสุทธิ์ที่ผสมโลหะอื่นมากเกินมาตรฐานนั้นเมื่อทิ้งไว้จะไม่ดำแบบ เงินแท้ แต่จะออกเหลืองหรือแดงตามสีโลหะที่ผสม เงินที่เก็บไว้อย่างมิดชิดในตู้ที่ปิดแน่นหรือในถุงพลาสติกจึงไม่ดำง่าย แต่ความดำของเงินนั้นสามารถล้างออกได้หลายวิธี เช่น ต้มน้ำร้อนบีบมะนาว ขัดถูด้วย แป้งดินสอพอง ใช้น้ำยาหรือครีมขัดโลหะหรือล้างด้วยกรด ซึ่งวิธีนี้จะขาวขุ่นมากเกินไป
สำหรับนิกเกิลซึ่งมีสีขาววาวคล้าย เงินนั้น เป็นโลหะเนื้อแข็งไม่มีราคา จึงมักจะถูกนำมาใช้แทนเงินในกรณีที่ต้องการทำสิ่งของราคาถูก เช่น เครื่องประดับหรืออื่น ๆ แต่นิกเกิลนั้นมีความใสวาวมากกว่าเงินแท้ซึ่งขาวนวลมากกว่า
ไทยไม่มี แร่เงินของตนเอง แต่โบราณสมัยที่ยังใช้โลหะเงินทำเป็นเงินตรา เราก็นำโลหะเงินเข้ามาจากจีนโดยแลกกับข้าว ต่อมาเมื่อเริ่มใช้เหรียญกษาปณ์ พวกเงินตราเก่า ๆ ก็กลายเป็นที่มาของเงินที่นำมาหลอมสกัดเอาเนื้อเงินมาทำเครื่องใช้ จนแม้ไม่นานมานี้เหรียญเงินรูปีบ้าง เหรียญเงินอินโดจีนบ้าง ก็ยังเป็นเนื้อเงินหลักของช่างทำเงิน
ในปัจจุบัน เหรียญเก่า ๆ เกือบไม่มีแล้ว ความต้องการโลหะเงินมาใช้ในลักษณะสินค้าส่งออกมีมากขึ้น เงินแท่งจากที่ต่าง ๆ ทั้งพม่าและตามแนวชายแดนต่าง ๆ เป็นที่มาสำคัญ กิจการขนาดเล็กจะหาเงินจากร้านค้าทองในรูปแบบของเงินแท่งบ้าง เงินบริสุทธิ์เป็นเม็ด ๆ บ้าง หรือเป็นแผ่นตามมาตรฐานความหนาบางและความบริสุทธิ์เท่าที่ต้องการ กิจการใหญ่ ๆ ต้องสั่งเข้าเนื้อเงินบริสุทธิ์เป็นเม็ด ๆ จากต่างประเทศโดยตรงเช่นจากสวิสและอื่น ๆ ระบบภาษีและมาตรการทางศุลกากรมีผลต่อราคาเครื่องเงินเป็นอย่างมาก
“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น